เปิดตำนาน “อุเทนถวาย”

เรื่องราวของอุเทนทวาย ที่หยิบยกมาจากงานเขียนของ “บุญเตือน ศรีวรพจน์” อดีต ผอ.สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ที่เขียนลงในนิตยสารเล่มหนึ่ง ระบุว่า  จุดเริ่มต้นของอุเทนถวายนั้น ต้องย้อนกลับไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชปรารภไว้ แต่ยังมิทันได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการ ก็เสด็จสวรรคตก่อน กระทั่งปี 2456 กระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ซึ่งมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกการหัตถกรรมเพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่บริเวณถนนตรีเพชร และนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” และเสด็จพระราชดำเนินเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2456 ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสตอบความตอนหนึ่งว่า

“ตามที่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ อ่านรายงานเรื่องสร้างโรงเรียนแห่งนี้ว่า ได้กระทำขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถของเรานั้น เราเชื่อว่าถ้ามีวิถีอันใดที่กิตติศัพท์อันนี้จะทราบถึงพระองค์ได้ แม้จะเสด็จอยู่สถานที่ใดก็ตาม คงจะยินดีและพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะว่าพระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่นานแล้วที่จะทรงบำรุงศิลปวิชาการของไทยเราให้เจริญ ตัวเราเองก็เคยได้ฟังกระแสพระราชดำริอยู่เสมอ เราเห็นพ้องด้วยกระแสพระราชดำรินั้นตั้งแต่ต้นมา คือเราเห็นว่าศิลปวิชาช่างเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งสำหรับแสดงให้ปรากฏว่าชาติได้ถึงซึ่งความเจริญเพียงใดแล้ว…ฯลฯ… เราเคยได้ปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ และผู้เกี่ยวข้องด้วยการศึกษาที่จะใช้วิชาช่างที่ตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม ดีกว่าเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกในแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน”

โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาเสด็จฯ มาขอชื่อโรงเรียน เราขอระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงขอตั้งชื่อให้โรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง”

โรงเรียนเพาะช่าง มีการเรียนการสอนวิชาหัตถกรรมไทยมาแต่แรก มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่ปี 2462 ก่อนจะเข้ามาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียน และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน กระทั่งสิ้นพระชนม์ วันที่ 8 ก.ค.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศล เป็นเงิน 10,000 บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

ส่วนการก่อตั้งอุเทนถวาย เริ่มต้นจากคณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ต่อมา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง เป็นการส่งเสริมวิชาช่างไทย ความในคำสั่งมีดังนี้

บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรที่จะจัดตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาขึ้นที่โรงงานของโรงเรียนเพาะช่างถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบลพญาไทโรงหนึ่งให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” แล้วขึ้นแขวงวิสามัญกับให้มีกรรมการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นคณะหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่งแต่ ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2475

(ลงนาม) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

เสนาบดี

โดยที่มานามอุเทนถวายนั้น มาจากสถานที่ตั้งโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง การก่อสร้างโรงงานโรงเรียนเพาะช่าง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวขาดแคลนช่างที่เป็นคนไทย ส่วนมากหัวหน้าช่างมักจะเป็นชาวจีน เพื่อเป็นการทำนุบำรุงวิชาช่างก่อสร้างไทย ปี 2474 จึงได้มีการเปิดสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดวิชารับเหมาก่อสร้างขึ้นที่เชิงสะพานอุเทนถวาย อันเป็นที่ตั้งโรงงานเพาะช่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สร้างขึ้น ในปี 2466 ซึ่งตอนนั้นให้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

ส่วนที่มาของชื่อ สะพานอุเทนถวายนั้น ก่อสร้างโดยเงินบริจาคของข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากร จำนวน 8,015 บาท 40 สตางค์ ครั้งนั้น เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสุขาภิบาล เสนอชื่อสะพาน ทูลเกล้าฯ ถวายให้เลือก 4 ชื่อ ได้แก่ สะพานอุเทนอุทิศ สะพานสรรพากรอุทิศ สะพานบริวารถวาย และ สะพานเบญจมราชูทิศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย”

ข้อมูลอ้างอิงจาก สมุดจดหมายเหตุประจำโรงเรียน

 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477  กระทรวงศึกษาธิการ  พระสารศาสน์ประพันธ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้เปิดโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย  แยกออกจากโรงเรียนเพาะช่าง  มาดำเนินการเปิดเป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ณสถานที่ตั้งเดิมพร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้ง  ร.อ.ขุนบัญชารณการ  (วงศ์  จารุศร)  ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

 

พ.ศ. 2478  สร้างโรงฝึกงาน 78  และปรับปรุงสนามฟุตบอล  และก่อสร้างบ้านพักครูขึ้น 1 หลัง  และได้เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาชั้นประถมวิสามัญและชั้นมัธยมวิสามัญ  เป็นชั้นมัธยมวิสามัญช่างก่อสร้าง  หลักสูตรปีที่ 1 ถึง 8 รับผู้มีความรู้ตามลำดับของชั้นที่จัดขึ้น เรียกช่างฝีมือเป็นประถมอาชีพลหักสูตรและแผนคงเดิมได้รับทุนจุลจักรพงษ์  สำหรับนักเรียนช่างก่อสร้างปีละ 3 ทุน

 

พ.ศ. 2479  พระเทวภินิมมิต (ฉาย)  ได้เขียนภาพระบายสี  โดยจำลองรูปวิษณุกรรมเหยียบเมฆ  พระหัตถขวาทรงจับไม้วา พระหัตถ์ซ้ายทรงถือไม้ฉากและลูกดิ่ง  ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำสำนัก  ในปีนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างหอเรียนหลังที่ 2  และบ้านพักครูหลังที่ 2เพิ่มขึ้น

 

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2480  พลเรือโท  หลวงสินธุสงครามชัย  ร.น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ได้จัดให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานอบรมวิชาช่างไม้  ช่างปูน  และจักสานแก่ครูในจังหวัดต่างๆ ซึ่งกระทรวงฯคัดเลือกทั่วราชอาณาจักรส่งเข้ามาเรียนจำนวน 200 คน โดยใช้ครู  อาจารย์ของโรงเรียนเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสอนอบรม  ฝึกฝนขึ้นอีกแผนหนึ่ง  และได้อนุมัติให้โรงเรียนจัดสร้างหอเรียน 3  และหอเรียน 4  โรงฝึกงาน 2  และได้จัดแยกนักเรียนมัธยมวิสามัญออกเป็น 2 แผนกคือ  แผนกชั้นมัธยมต้น  รับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3  และแผนกชั้นมัธยมปลายรับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6  หลักสูตรการเรียน 3 ปี  ทั้งสองแผนก  วิชาที่เรียนแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมีวิชาเขียนแบบ  เขียนภาพหวัด  ก่อสร้างบูรณะ  กลศาสตร์  วัสดุก่อสร้าง  รังวัด  ถนนและทาง  ระบบประปาและสุขา  เดินสายไฟ  ตรวจและคิดราคาก่อสร้าง  บัญชี  กฎหมาย  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  ศีลธรรม  พลศึกษา  และฝึกอบรมงานทั้ง 4 สาขาช่าง

 

พ.ศ. 2481  ก่อสร้างโรงเรียนฝึกงาน 1 และ 3 ปรับปรุงถนนและทางเท้า  สระอาบน้ำ  ก่อสร้างบ้านพักครูหลังที่ 3  และหลังที่ 4 อบรมครูช่างไม้รุ่นที่ 1  จำนวน 61 คน  ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรับรอง   วิทยฐานะนักเรียนที่เรียนจบชั้นประโยคมัธยมปลายตามประกาศ ฉบับที่ 2  ลงวันที่ 21 พฤษภาคม  พ.ศ. 2481

 

พ.ศ. 2482  ขยายและปรับปรุงโรงงาน 78 เป็นโรงฝึกงานที่ 4  กระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งครูจากจังหวัดต่างจังหวัดละ 2 คน รวม140 คน  เข้ารับการอบรมวิชาช่างไม้เป็นรุ่นที่ 2  ร่วมกับรุ่นที่ 1  หลักสูตรการอบรม 2 ปี  ด้วยเหตุนี้โรงเรียนถือว่าครูและผู้ได้รับการอบรมทุกๆ รุ่นเป็นศิษย์เก่า  เพราะได้รับการศึกษาในลักษณะวิชาและการเรียนเช่นเดียวกัน  ได้ยุบเลิกแผนกมัธยมต้นวิสามัญ  แยกการศึกษาออกเป็นแผนกอาชีวศึกษาชั้นสูง  แผนกช่างก่อสร้าง  และแผนกอาชีวศึกษาชั้นสูง  แผนกช่างก่อสร้าง  และแผนกอาชีวศึกษาชั้นต้น  แผนกช่างไม้  ช่างปูน  ช่างสี  ช่างโลหะ  หลักสูตรคงใช้ของเดิม  และปรับปรุงให้กระชับขึ้น

 

กรมโยธาเทศบาล  ประกาศเทียบความรู้ของผู้จบการศึกษาชั้นประโยคอาชีวะชั้นสูง  แผนกช่างก่อสร้างมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่า  ช่างจัตวา  ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

 

พ.ศ. 2483  ได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการ  รั้งโรงเรียนด้านถนนพญาไทโดยตลอด  ทางการได้เรียกตัวนักเรียนครูช่างที่เรียนครบ 2 ปี ส่งไปรับราชการตามต้นสังกัดเดิมระหว่างโรงเรียนปิดภาคปลาย  ทางราชการทหาร  ได้ขอใช้สถานที่อาคารที่ทำการซึ่งก่อสร้างเกือบเสร็จเรียบร้อยเป็นที่พักของทหารกองทัพบูรพา   คราวสงบกรณีพิพาทระหว่างอินโดจีน  ฝรั่งเศส  เพื่อพิธีสวนสนามในพระนคร

 

พ.ศ. 2484  ปีแห่งประวัติศาสตร์ของโลกของชาติไทย  นับเป็นปีที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายรุ่งเรืองมาก  ทั้งทางด้านการศึกษา  ด้านการค้าและอื่นๆ เช่น การกีฬาครูทำการสอนคือนายจำปา  เล้งสำราญ  พ.จ.ท.โพ  และนายอาจ  สุนทร  ลงวันที่ 24 มิถุนายน ย้ายขึ้นประจำบนอาคารที่ทำการ  นับว่าเป็นความเจริญรุ่งเรืองของโรงเรียนยิ่งกว่าทุกๆปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้จารึกวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์  โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเริ่มบันทึกความสูญเสียทรัพย์สิน  การศึกษาและอื่นๆอย่างมหันต์ในสมุดจดหมายเหตุประจำโรงเรียนเมื่อ  วันที่ 8 ธันวาคม 2484 วันที่ทหารญี่ปุ่นบุก  ขณะนั้นโรงเรียนอยู่ระหว่างปิดภาคและมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ  กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึด  อาคารสถานที่ของโรงเรียนเป็นที่พักของทหาร  เวลา 16.00 น.  วันที่ 10 ธันวาคมนั้นทรัพย์สินและเอกสารต่างๆ สูญเสียมากมาย  เมื่อถึงเวลาเปิดภาคเรียน  ต้องย้ายนักเรียนอาชีวศึกษาชั้นสูงไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  ชั้นต้นอาศัยเรียนตามโรงฝึกงานที่ทหารญี่ปุ่นไม่ได้เข้ายึด  คือโรงงานฝึกงาน 1  และโรงเรียนฝึกงาน 4

 

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2485  กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษ  ผลการเรียนให้ถือเอาเวลาเรียนร้อยละ 60 เป็นอันสอบไล่ได้

 

วันที่ 18 พฤษภาคม เปิดภาคเรียนภาคต้นปี พ.ศ. 2485  อพยพนักเรียนทั้งที่รับใหม่และนักเรียนเก่า  เฉพาะแผนกอาชีวศึกษาชั้นสูง  ย้ายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมาเรียนที่  โรงเรียนพาณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง  ชั้นต้นยังคงเรียนอยู่ที่เดิม  วันที่ 30 กันยายน ย้ายนักเรียนชั้นต้นปีที่ 1  และ 2  ทุกสาขาวิชาช่างไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกษเพราะเกิดอุทกภัย  วันที่ 2 ตุลาคม  กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนทั่วไป  เพราะมีระดับน้ำท่วมสูงสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2485  วันที่ 24 พฤศิจากยน  พลตรีประยูรภมรมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  สั่งย้ายนักเรียนชั้นต้นปีที่ 3 ตลอดจนครู  พนักงานซึ่งอาศัยโรงฝึกงาน 4 ไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนช่างเย็บหนัง  อาคาร 6  ถนนราชดำเนิน

 

วันที่ 29 มกราคม 2486  ย้ายที่ทำการชั้นต้นจากอาคาร 6 ถนนราชดำเนินและจากโรงเรียนช่างไม้วัดสระเกษ  มาเรียนชั่วคราวหลังสถานเสาวภา  ตำบลสนามม้า  ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รับนักเรียนที่จบประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกช่างก่อสร้าง  เข้าศึกษาต่อแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์  และแผนกวิศวกรรมศาสตร์  แทนการเปิดสอนชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 5 ซึ่งทางโรงเรียนได้ขออนุมัติไปที่กระทรวงศึกษาธิการ

 

วันที่ 30 พฤศจิกายน  ขุนบัญชารณการ (ร.อ.วงศ์  จารุศร)  อาจารย์ใหญ่ขอลาออกตั้งแต่ 1 ธันวาคม  เป็นต้นไป  มอบหมายงานและหน้าที่ให้นายวิโรจน์  กมลพันธุ์  หัวหน้ากองโรงเรียนอาชีวศึกษา  มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอีกตำแหน่งหนึ่ง

 

เหตุเพราะภัยสงครามได้ทวีความรุนแรงโรงเรียนปิดๆ-เปิดๆ  การเรียนการสอนสลับอยู่ตลอด  สาเหตุดังกล่าวจึงไม่มีท่านใดประสงค์เข้ารับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่  หัวหน้ากองซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้น  ก็มีงานมากไม่สะดวกที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ราชการที่โรงเรียนเท่าควร  จึงมอบหมายให้   นายดิเรก  อิศรางกูร ณ อยุธยา  กับ  นายกุล  มฤคทัต  ผลัดเปลี่ยนกันมารักษาการ

 

พ.ศ. 2478  ภัยทางอากาศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้  โรงเรียนอพยพย้ายออกไปนอกเขตพระนคร  และธนบุรีเพื่อเตรียมเปิดทำการเรียนการสอนใหม่  คือวันที่ 19-20 มกราคม  อาคารหลายหลังในโรงเรียนได้รับความเสียหาย  จากการทิ้งระเบิดอย่างหนักจึงต้องอพยพย้ายพัสดุครุภัณฑ์ทรัพย์สินเท่าที่เหลืออยู่  ไปเปิดที่โรงเรียนช่างไม้อำเภอสามโคก  จังหวัดปทุมธานี  เมื่อ 25มกราคม  อยู่ในความควบคุมของนายดิเรก  อิศรางกูร ณ อยุธยา  ส่วนการเรียนการสอนยังคงอยู่ที่วัดแก้วฟ้าล่าง  และหลังสถานเสาวภา เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนภาคต้นปีการศึกษา 87  อาคารเรียนชั่วคราวสถานเสาวภาถูกพายุพัดพังเสียหายใช้การไม่ได้  ต้องย้ายแผนกชั้นต้นทั้งหมดไปเปิดเรียนที่โรงเรียนช่างทอ  วัดสามพระยา  ระยะนี้อยู่ในระหว่างปิดโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษ

 

วันที่ 1 กันยายน  กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งแต่งตั้งนายดิเรก  อิศรางกูร ณ อยุธยา  ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่  ส่วนนายวิโรจน์ กมลพันธ์  ยังคงรับหน้าที่หัวหน้ากองโรงเรียนตำแหน่งเดียว (ภายหลังท่านผู้นี้ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายสมัย)

 

วันที่ 9 สิงหาคม  ย้ายนักเรียนทุกแผนกสาขาวิชาไปเปิดเรียนที่โรงเรียนช่างไม้อำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี  ทางโรงเรียนวัดสามพระยาเป็นที่ทำงานกลางเพื่อสะดวกในการติดต่อราชการ

 

พ.ศ. 2488 เปิดรับนักเรียนอาชีวศึกษาชั้นกลางแผนกช่างไม้  รับนักเรียนที่เรียนจบวิชาช่างไม้ชั้นต้น  ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง  วันที่ 15กรกฎาคม  ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2  สงครามสงบลงเมื่อ  31 สิงหาคม  กองทัพญี่ปุ่นยอมคืนสถานที่และย้ายออกไปสู่ค่ายกักกันวันที่ 1 กันยายน  ได้อพยพผู้เรียนจากสามโคก  มาเปิดทำการเรียนการสอนทุกแผนกที่โรงเรียนวัดสามพระยา  วันที่ 5 กันยายน  กรมยุทธโยธาทหารบก  ขอใช้อาคารสถานที่เป็นที่ต้อนรับและที่พักของทหารสหประชาชาติความเสื่อมโทรมของสถานที่  โดยทั่วไปเสียหายมากอาคารทุกหลังที่เหลือจากถูกระเบิดโดยทหารญี่ปุ่น  ได้รับผลกระทบครั้งแล้วครั้งเล่าจากทหารอังกฤษ  ทหารแขก  ทหารฮอลันดา  ดังนั้น เมื่อทางโรงเรียนได้รับมอบสถานที่คืนจากทหารดัชท์ซึ่งเป็นทหารหน่วยสุดท้าย  โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายของเราเสียหายชำรุดทรุดโทรมมาก  มีป้อมดิน  และซีเมนต์ตั้งระเกะระกะ  สระน้ำที่สวยงามใช้เป็นส่วมเป็นถังขยะ  ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวนไปหมด  อาคารต่างๆโดนระเบิดเสียหายใช้การไม่ได้เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่งที่เทวรูปองค์พระวิษณุกรรมยังยืนเด่นสง่าอยู่อย่างเดิมไม่เสียหาย

 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2489  รับมอบสถานที่คืนจากนายทหารดัชน์และเจ้าหน้าที่กลาโหม  ได้เริ่มขนย้ายสิ่งของตลอดจนกิจกรรมและกลับมาสู่มาตุภูมิถิ่นกำหนดของเรา

 

เริ่มทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่  ให้คงสภาพใช้งานได้ใกล้วันที่ 1 กุมภาพันธ์  องค์เทวรูปพระวิษณุกรรมได้รับการบูรณะและได้ก่อสร้างฉากเบื้องหลังโดยฝีมือผู้ปั้นเดิม  คือนายสิทธิเดช  แสงหิรัญ  และนายทองอยู่  ชื่นชอบ

 

พ.ศ. 2490  กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ดำเนินการซ่อมโรงฝึกงาน 4 และหอเรียน 2 และ 4   ใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราวของโรงเรียนพณิชยการพระนคร  ซึ่งย้ายมาจากวังบูรพาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม หอเรียน 2 และ 4  อาจารย์ใหญ่อำนวยการจัดซ่อมเอง  ส่วนโรงฝึกงาน 4  บริษัทไทย  ชัยสหช่างจำกัดรับเหมาจะเห็นได้ว่า  จากประวัติของอุเทนถวายที่ผ่านมามีอุปสรรคขวากหนามมากที่เดียว  แต่ก็พ้นพิบัติภัยมาได้ตลอด  คงเป็นเพราะบารมีของพระวิษณุกรรมเทวรูปอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา

 

พ.ศ. 2491  การขยายตัวทางด้านการศึกษาและจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น  โรงงานที่เคยเงียบเหงา  กลับมีชีวิตชีวาขึ้นกลว่าคือ  มีเสียงเลื่อย  เสียงสิ่ว  ตัด  ตอก  อึงคะนึง  ครู-อาจารย์  สดชื่น  กระฉับกระเฉง  เป็นมิตรหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองกลับคืนมาในปีนี้ได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายจากสงคราม  ได้ก่อสร้างหอพักนักเรียน  เป็นเรือนนอนชั้นเดียวใต้ถุนสูง  เป็นแบบของนายชูศักดิ์  อดิศักดิ์  และได้ใช้ชั้นล่างของเรือนนอนเป็นโรงอาหารของนักเรียน  เมื่อหอพักนักเรียนได้สร้างเสร็จเรียบร้อย  กรมอาชีวศึกษาได้ย้ายนักเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาชาย  จากหอพักจุลจักรพงษ์  ถนนเสือป่า  มาเข้าพักทันที  โดยแต่งตั้งให้นายสว่าง  สุขัคคานนท์  ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่  และผู้ปกครองหอพัก  นายปัญญา  สัลลากานนท์  เป็นผู้ช่วยปกครองหอพัก

 

พ.ศ. 2492  กรมอาชีวศึกษาอนุมัติให้ใช้หอเรียนที่ 4  และโรงฝึกงานส่วนหนึ่งเป็นสถานที่เรียนและฝึกงานของโรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา  ในปีนี้โรงเรียนพาณิชยการพระนคร  ได้ย้ายไปเรียนที่สร้างใหม่หลังวังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เดิม

 

พ.ศ. 2494  จำนวนนักเรียนทั้งหมดจำนวน 1,214 เป็นปีแรกที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุด  ในด้านการศึกษาได้รับการพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในทุกด้าน  ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแสดงกลางแจ้ง โดยแสดงตำนาน  สมัยกรุงศรีอยุธยา  “ตอนโกษาปานตีเชียงใหม่”  เป็นครั้งแรก

 

พ.ศ. 2495  โรงเรียนส่งนักเรียนเข้าร่วมแสดงกลางแจ้งเป็นครั้งที่ 2  โดยการแสดงสมัยศรีอยุธยา “ตอนพระยาพิชัยดาบหัก”

 

พ.ศ. 2496  โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาย้ายไปอยู่ ณ กรมหลวงราชบุรีสี่เสาเทเวศร์  เป็นที่น่าสังเกตว่า  บรรดาโรงเรียนที่มาพำนักพึ่งพิงดินแดนอุเทนถวาย  เมื่อย้ายออกไป  ทุกโรงเรียนมีสถานที่ถาวรเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

 

พ.ศ. 2497  จำนวนนักเรียนยังคงเพิ่มขึ้นทุกๆ แผนกเฉพาะอย่างยิ่งชั้นอาชีวศึกษาชั้นสูง  เพื่อให้การศึกษาดำเนินไปเหมาะสมกับภาวการณ์กรมอาชีวศึกษา  ได้ยุบชั้นมัธยมอาชีวศึกษาต้นทุกแผนกตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป  คงเหลืออยู่แต่เพียง 2 ระดับคือ  ชั้นมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาชั้นสูง  ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนทางโรงเรียนได้จัดแสดงตำนาน  สมัยศรีอยุธยา  กลางสนาม “ตอนวาระสุดท้ายของ  โกษาปาน”  นับเป็นการแสดงครั้งที่ 3

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2497  เป็นวันครบรอบ 20 ปีของโรงเรียนได้เชิญบรรดาศิษย์เก่าที่รับราชการตามเป้าหน่วยงานต่างๆมาร่วมงานเฉลิมฉลองเริ่มวันที่ 31 มกราคม  และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวม 2 วัน 2 คืนหลวงปราโมทย์  จรรยาวิภาช  อธิบดีกรมอาชีวศึกษา  และพระยาวิทยาปรีชามาตย์  ประธานกรรมการ  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานของงาน  นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

 

พ.ศ. 2498  เปิดเรียนชั้นมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลายแผนกช่างปูน  แผนกช่างสี  หลักสูตร 3 ปี  ได้รับเงิน ก.ศ.ส. สร้างอาคารเรียน  “ตึก ก.ศ.ส.” เป็นอาคาร 2 ชั้น  ขนาด 12 ห้องเรียน  ซึ่งเป็นแบบของกรมอาชีวศึกษา  โดยให้นักเรียนปฏิบัติงานก่อสร้าง  ถือเป็นภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง  ในปีนี้  การแสดงกลางแจ้งในการแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนได้นำตำนานสมัยศรีอยุธยา  “ตอนเบื้องหลังการเสียกรุง ครั้งแรก” ไปแสดงนับเป็นครั้งแรกที่ 4

 

พ.ศ. 2499  โรงเรียนได้กำหนดให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์  เป็นวันคล้ายวันเกิดของโรงเรียนเป็นมงคลฤกษ์  เปิดอาคารเรียน  “ตึก ก.ศ.ส.” โดยมีนายสนั่น  สุมิตร  อธิบดีกรมอาชีวศึกษาเป็นประธาน

 

ในปีนี้ได้เสริมฐานองค์เทวรูปพระวิษณุกรรมสูงขึ้นอีก 1 ชั้นและเปลี่ยนรูปทรงฉากหลัง  และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามขึ้น  โดยความร่วมมือจาก  นายเบญจะ  สยังกูล  อาจารย์พิเศษ  การแต่งกายของนักเรียนอาชีวศึกษาชั้นสูงทั้งหมด  เปลี่ยนเป็นเครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหารของกรมการรักษาดินแดน  และเริ่มการเรียนการสอนเป็น 2 รอบ  คือรอบเช้าและรอบบ่าย

 

พ.ศ. 2500  เป็นปีที่ 25 พุทธศตวรรษ  ทุกส่วนได้รับการปรับปรุงเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น  จำนวนนักเรียนมี 2,417 คน  รวมทั้งครูอาจารย์เป็นจำนวน 2,500 คน  ในปีนี้นักเรียนอาชีวะศึกษาชั้นสูงปีที่ 1 และ 2 ในรอบบ่ายเพิ่มเป็นชั้นละ 10 ห้องเรียน

 

พ.ศ. 2501  นายสว่าง  สุขัคคานนท์  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่  เมื่อวันที่  12 มกราคม  แทนนายอดิเรก  อิศรางกูร ณ อยุธยา  ซึ่งถึงแก่กรรม  เมื่อเดือนธันวาคม 2500

 

พ.ศ. 2502  สร้างบ้านพักครู  ภารโรง  โดยใช้วัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้าง

พ.ศ. 2503  โรงเรียนเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนใหม่จากเรียนประจำห้องมาเป็นระบบหมวดวิชา  ให้นักเรียนเดินเรียน และเครื่องแบบนักเรียนได้เปลี่ยนจากชุดศึกษาวิชาทหารของกรมการรักษาดินแดงมาเป็นกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินแก่  เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ประดับเครื่องหมายโรงเรียนเหนือกระเป๋าซ้าย  คาดเข็มขัดขวาหัวเข็มขัดประจำโรงเรียน  รองเท้าหุ้มส้นสีดำ  ถุงเท้าขาวเรียกนักเรียนรุ่นนี้ว่ารุ่น   “รุ่นอภิวัฒน์”

 

ในปีนี้  ทางโรงเรียนตัดนักเรียนรอบบ่ายชั้นอาชีวศึกษาชั้นสูง  แผนกช่างก่อสร้างออก 10 ห้อง รับนักเรียนเข้าใหม่เพียง 350 คน  ปีที่ผ่านมารับถึง 700 คน  นักเรียนทุกแผนกเหลือเพียง 1,870 คน  ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน  ได้นำบ้านสำเร็จรูปและอื่นๆเป็นฝีมือนักเรียนไปแสดงและประกวดเป็นที่ชื่นชมยินดีแก่ประชาชนทั่วไป

 

พ.ศ. 2504  ตกแต่งขอบสระจากไม้  เป็นการเรียงด้วยหินประดับสร้าง “โรงฝึกงาน 2504” หลังตึก ก.ศ.ส.  และ “โรงอาหาร” โครงหลังคาไม้ที่ปลายตึก ก.ศ.ส. ด้านทิศใต้  นอกจากนี้ได้ทำการเปลี่ยนหลังคา  หอเรียน  1  และ 2  จากหลังคาสังกะสี  เปลี่ยนเป็นลอนคู่ พร้อมทำที่กันแดดที่หอเรียนทั้งสองด้วย

 

พ.ศ. 2505  ยุบเลิกชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทุกแผนกคงเหลืออาชีวศึกษาชั้นสูงเพียงระดับเดียว  และได้เปลี่ยนแปลงหลังคา และจัดทำที่กันแดดหอเรียน 3  และหอเรียน 4  เช่นเดียวกับหอเรียน 1  และ  2

 

พ.ศ. 2506  ปรับปรุงห้องสมุดและสร้างสโมสรลูกเสือวิสามัญ

 

พ.ศ. 2507  เปลี่ยนหลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูงเป็นหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ  เปิดสอนแผนกช่างก่อสร้างอย่างเดิมเพียงแผนกเดียว  ภาคปลายปีการศึกษา 2507  ได้ปรับปรุงหลังคาตึกอำนวยการใหม่

 

พ.ศ. 2512  นายนคร  ศรีวิจารณ์  ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่  เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ แทน  นายสว่าง  สุขัคคานนท์  เกษียณอายุราชการ  เมื่อ 1 ตุลาคม 2511

 

พ.ศ. 2515  แยกหลักสูตรเป็น 2 สาขาคือ  แผนกช่างเขียนแบบและแผนกช่างก่อสร้าง  เปลี่ยนระบบการเรียนเป็น 2 ภาคเรียน และใช้การวัดผลเป็นระบบหน่วยกิต

 

พ.ศ. 2517  เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  แผนกช่างก่อสร้าง  กับ  แผนกช่างครุภัณฑ์  โดยเปลี่ยนจากหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ  โดยเปลี่ยนจากหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ  และได้ขยายหลักสูตรการศึกษาให้สูงขึ้น  โดยเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.)  แผนกเทคนิคก่อสร้าง  คณะวิชาช่างโยธาและแผนกออกแบบสถาปัตยกรรม  คณะวิชาช่างโยธาและแผนกออกแบบสถาปัตยกรรม  คณะวิชาออกแบบด้วยเหตุที่ขยายศึกษาในระดับ ปวส. กระทรวงศึกษาธิการ  ได้ยกฐานะจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเป็น “วิทยาลัยอุเทนถวาย” ได้แบ่งการเรียนออกเป็น 4 คณะวิชาคือ

คณะวิชาสามัญ
คณะวิชาสัมพันธ์
คณะวิชาช่างโยธา
คณะวิชาออกแบบ

พ.ศ. 2518  โอนเข้าสังกัดในวิทยาลัยและอาชีวศึกษาเป็นวิทยาเขตอุเทนถวายและได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตอุเทนถวาย”  ต่อมาได้แก้ไขหลักสูตรเดิม  โดยจัดทำแผนพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา

 

ปีพ.ศ. 2520 รื้อหอเรียน 4 ก่อสร้างอาคารเรียนสูง 8 ชั้นเป็นอาคารเรียนของคณะวิชาช่างโยธาและคณะวิชาสามัญ

 

ปีพ.ศ. 2522  รื้อหอเรียน 1 ก่อสร้างโรงงานวิชา 1 ของคณะวิชาสัมพันธ์และขณะเดียวกันได้ปรับปรุงหลักสูตรแผนกวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่  ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม (กส.)  และเปลี่ยนเป็น  แผนกวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายโสภณ  แสงไพโรจน์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทนนายนคร  ศรีวิจารณ์  ซึ่งย้ายไปเป็นผู้อำนวยการวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ

 

ปีพ.ศ. 2524  รื้อหอเรียน 4 ก่อสร้างตึกเรียนสูง 5 ชั้น  ใช้เป็นอาคารคณะวิชาออกแบบ

 

ปีพ.ศ. 2525  ดร.บุญสม  มาร์ติน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดงานฉลองครบ 4 รอบ (48 ปี)  “อุเทนถวาย” เมื่อ 30 มกราคม

 

ในปีนี้วิทยาเขตได้เปิดสอนแผนกวิชาดังต่อไปนี้
1) แผนกวิชาช่างก่อสร้างระดับ ปวช.
2) แผนกวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรมระดับ ปวช.
3) แผนกวิชาเทคนิคก่อสร้าง  ระดับ  ปวส.
4) แผนกวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรมระดับ  ปวส.
5) แผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์  ระดับ ปวส.

 

ปีพ.ศ. 2526  เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาการบริหารงานก่อสร้างระดับ ปวส. เพิ่มขึ้นอีก   1 สาขาวิชา  และเปลี่ยนหลักสูตรระดับ ปวส.แผนกวิชาเทคนิคก่อสร้างเป็นแผนกวิชาช่างก่อสร้างตามหลักสูตรของโครงการเงินยืม

 

ปีพ.ศ. 2527  นายชวน  หลีกภัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน  วันสถาปนาวิทยาเขตอุเทนถวาย  ครบ 50 ปี  เมื่อ 1 กุมภาพันธ์

 

ปีพ.ศ. 2528  สร้างบ้านพักข้าราชการระดับ 3-4 แบบแฟลตบริเวณหลังวิทยาเขตด้านทิศเหนือ

 

ปีพ.ศ. 2529  เปิดหลักสูตรสาขาช่างก่อสร้าง (การสำรวจงานก่อสร้าง)  ระดับ ปวส.เพิ่มขึ้นอีก   1 สาขาวิชา  ในปีนี้ลดจำนวนการรับนักศึกษาระดับ ปวช.เหลือสาขาวิชาละ 3 ห้อง  เรียนห้องละ 30  คน  โดยเพิ่มรับนักศึกษาระดับ ปวส.แทน

 

วันที่ 10 กรกฎาคม  ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการระดับ 3,4 บริเวณหลังวิทยาเขตด้านทิศใต้

 

ปีพ.ศ. 2530  วันที่ 6-30  กรกฎาคม  วิทยาเขตอุเทนถวายได้รับเชิญจากกองทัพบก  ให้เข้าร่วมกิจกรรมตกแต่งปรับปรุงบริเวณโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา  งานตกแต่งทาสีกำแพง  เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (60 พรรษา) ธันวาคม 2530

 

ปีพ.ศ. 2531  เปิดรับนักเรียนเข้าเรียนในสาขาวิชาช่างก่อสร้าง (การทาง) ระดับ ปวส.เป็นสาขาวิชาใหม่

 

วันที่ 15 กันยายน 2531  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็น “สถาบันเทคโนโลยี  ราชมงคลวิทยาเขตอุเทนถวาย”

 

วิทยาเขตอุเทนถวาย  กับ  สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวายบูรณะบริเวณประดิษฐานองค์พระวิษณุกรรม  และภูมิสถาปัตย์โดยรอบให้สง่างามยิ่งขึ้น  โดยเริ่มดำเนินงาน  ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม

 

ปีพ.ศ. 2532  รองศาสตราจารย์ธรรมนูญ  ฤทธิมณี  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี  งานวันสถาปนาวิทยาเขตอุเทนถวายครบ 55 ปี  วันที่ 1 กุมภาพันธ์

 

วันที่ 24 เมษายน  ก่อสร้างรั้วด้านหน้าวิทยาเขตฯเป็นรั้วเหล็กโปร่ง

วันที่ 17 พฤศจิกายน  นายณัฏฐพร  สังขวาสี  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแทน  นายโสภณ  แสงไพโรจน์  ซึ่งย้ายไปเป็นผู้อำนวยการกองพัสดุ  และอาคารสถานที่  สำนักงานอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  ตั้งแต่ 26 ต.ค.

 

ปีพ.ศ. 2534  เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายในระดับ ปวส.อีกสาขาวิชาหนึ่ง  เริ่มใช้งานอาคาร 7

 

ปีพ.ศ. 2536  เปิดสอนสาขาวิชาในระดับ ปวส.  ทั้งหมดดังนี้

 

คณะวิชาช่างโยธา

1) สาขาวิชาช่างก่อสร้าง

2) สาขาวิชาช่างก่อสร้าง (บริหารงานก่อสร้าง)

3) สาขาวิชาช่างก่อสร้าง (สำรวจเพื่อการก่อสร้าง)

4) สาขาวิชาช่างก่อสร้าง (การทาง)

คณะวิชาออกแบบ

1) สาขาวิชาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม

2) สาขาวิชาช่างออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

3) สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน

 

ปีพ.ศ. 2537  งดรับนักศึกษาหลักสูตร ปวส. 3 ปี  ซึ่งเคยรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นม.6

 

ปีพ.ศ. 2538  งดรับนักศึกษาสาขาวิชาบริหารงานก่อสร้าง  ช่างก่อสร้างสาขาวิชางานรองสำรวจเพื่อการก่อสร้าง  และสาขาวิชางานรองการทาง

 

ปีพ.ศ. 2541  งดรับนักศึกษาแผนกวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและแผนกวิชาสถาปัตยกรรมภายใน  คงเหลือไว้เพียงแผนกวิชาช่างก่อสร้าง  และแผนกวิชาเทคนิคสถาปัตยกรรมแค่   2 แผนกเท่านั้น  โดยรับผู้สำเร็จชั้น ปวช. เข้าศึกษาต่อในหลักสูตร ปวส. (หลักสูตร 2 ปี)

 

ปีพ.ศ. 2542  ขยายการศึกษาระดับปริญญา  โดยเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีสาขา  วิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม

 

ปีพ.ศ. 2544  เปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี  สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและเปลี่ยนชื่อคณะวิชาออกแบบเป็นคณะวิชาสถาปัตยกรรม  ประกอบด้วยแผนกช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม  แผนกวิชาสถาปัตยกรรมภายใน  และสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม ตั้งคณะวิชาออกแบบอุตสาหกรรม  ประกอบด้วยแผนกออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  และคณะสถาปัตยกรรมผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมรุ่นแรก  จำนวน 13 คน

 

ปีพ.ศ. 2545  งดรับนักศึกษาระดับ ปวส. ทั้งหมด  มีเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  และสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม

 

พ.ศ. 2546  เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยี  สาขาเทคโนโลยีโยธา  สาขาวิชาการจัดการงานก่อสร้าง  และสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  และในปีนี้  วิทยาเขตเปิดสอนเฉพาะระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาดังต่อไปนี้

 

คณะวิชาช่างโยธา

1) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  หลักสูตร 3 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.) ภาคปกติ

2) สาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา  หลักสูตร 3 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.) ภาคปกติ

 

คณะวิชาสถาปัตยกรรม

1) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมหลักสูตร 3 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.) ภาคปกติ

2) สาขาวิชาการจัดการงานก่อสร้างหลักสูตร 4 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.) ภาคปกติ

3) สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสากรรมหลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง (รับ ปวส.) ภาคปกติ

ปีพ.ศ. 2547  วิทยาเขตมีโครงการเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาดังนี้

 

คณะวิชาช่างโยธา

1) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  หลักสูตร 4 ปี (รับ ปวช. และ ม.6)

2) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  หลักสูตร 3 ปี ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคปกติ

3) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา  หลักสูตร 2 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)  ภาคสมทบ

4) สาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา  หลักสูตร 2 ปี ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคปกติ

5) สาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา  หลักสูตร 2 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคสมทบ

 

คณะสถาปัตยกรรม

1) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม  หลักสูตร 5 ปี (รับ ปวช. และม.6)

2) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม  หลักสูตร 3 ปี ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคสมทบ

3) สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมหลักสูตร 3 ปี ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคสมทบ

4) สาขาวิชาจัดการผังเมืองหลักสูตร 2 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคสมทบ

5) สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลักสูตร 2 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคปกติ

6) สาขาวิชาออกแบบเครื่องเรือน  หลักสูตร 2 ปี  ต่อเนื่อง (รับ ปวส.)ภาคปกติ

7) สาขาวิชาการจัดการงานก่อสร้าง  หลักสูตร 4 ปี  (รับ ม.6)  ภาคปกติ

 

ในปีพุทธศักราช 2548  พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ปร. ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน  โดยจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ออกเป็น 9แห่ง  ด้วยกันคือ

 

บทเฉพาะกาล  (ราชกิจจานุเบกษา  หน้า 40  เล่ม 22  ตอนที่ 6ก. 18 มกราคม 2548 มาตรา 65) ความว่าภายใต้บังคับมาตรา63  และมาตรา 64  ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ตามมาตรา 5  ประกอบด้วยส่วนราชการดังต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ประกอบด้วยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจังหวัดปทุมธานีและวิทยาเขตปทุมธานี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ  ประกอบด้วยวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ วิทยาลัยบพิตรภิมุข  มหาเมฆ  และวิทยาเขตพระนครใต้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออก  ประกอบด้วยวิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ  วิทยาเขตอุเทนถวาย  วิทยาเขตบางพระ  จังหวัดชลบุรี  วิทยาเขตจันทบุรี  และคณะเกษตรศาสตร์บางพระ  ชลบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  ประกอบด้วยวิทยาเขตเทเวศร์  วิทยาเขตโชติเวช   วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์  และวิทยาเขตพระนครเหนือ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  ประกอบด้วย  วิทยาเขตเพาะช่างวิททยาเขตบพิตรพิมุขจักรวรรดิ  วิทยาเขตศาลายา  และวิทยาเขตวังไกลกังวล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  ประกอบวิทยาเขตภาคพายัพจังหวัดเชียงใหม่  วิทยาเขตน่าน  วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตเชียงราย  วิทยาเขตตาก  วิทยาเขตพิษณุโลก  และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิจัย  ประกอบด้วยวิทยาเขตภาคใต้  จังหวัดสงขลา  วิทยาเขตนครศรีธรรมราช  วิทยาเขตศรีวิชัย  จังหวัดนครศรีธรรมราช  คณะเกษตรศาสตร์นครศรีธรรมราช  และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง  จังหวัดตรัง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  ประกอบด้วย  วิทยาเขตนนทบุรี   วิทยาเขต พระนครศรีอยุธยา  วาสุกรี  วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา  หันตรา  และวิทยาเขตสุพรรณบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  ประกอบด้วยวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดนครราชสีมา  วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตขอนแก่น  วิทยาเขตกาฬสินธุ์  วิทยาเขตสกลนคร  และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร

มาตรา 75  ในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวงข้อบังคับ  ประกาศและระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้  ให้นำพระราชกฤษฎีกา  ข้อบังคับ  ประกาศ  และระเบียบ  ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  พ.ศ. 2518  ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใน  ราชกิจจานุเบกษา  ใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติการ  อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่ง  หรือหน่วยงานต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลนี้  ให้รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจและวินิจฉัยชี้ขาด  ผู้รับสนองพระโองการฉบับนี้  คือ  นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี  ทราบว่า  คณะผู้บริหารมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก  วิทยาเขตอุเทนถวาย  มีความจำเป็นต้องยุบรวมคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรม  รวมเป็นคณะเดียวกัน  เรียกชื่อ  คณะใหม่ว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  โดยสำนักคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

©[2490-2565] สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย   Uthenthawai Alumni Associate.

[kleo_social_icons]